การออกเสียงประชามติ (Referendum) หมายถึงกระบวนการในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนออกเสียงเพื่อตัดสินว่าจะให้ความ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้น ไปออกกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป
ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ จะเป็นวันที่ประชาชนชาวไทยจะร่วมกันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติม อันมีความสำคัญต่อการปกครองที่อำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะนั่นหมายถึงประชาชนสามารถตัดสินใจในการออกความคิดเห็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อบ้านเมืองได้ด้วยตนเอง
ประเด็นการออกเสียงประชามติ ในครั้งนี้
1. ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช …. ทั้งฉบับ
2. ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
โดยขอเชิญร่วมใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559
ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านมีรายชื่อ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ
1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับถึงวันออกเสียง)
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง (เกิดก่อน 9 สิงหาคม 2541)
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันออกเสียง
ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช
2. อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
3. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
4. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
หลักฐานที่ใช้ในการออกเสียง
• บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรหมดอายุใช้ได้)
• บัตรประจำตัว หรือ หลักฐานที่ราชการออกให้ โดยต้องมีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัว เช่น
- บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- บัตรประจำตัวผู้รับบำเหน็จบำนาญ
- ใบขับขี่
- หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
ขั้นตอนการออกเสียงประชามติ
1. ตรวจสอบรายชื่อ
ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงที่ประกาศไว้หน้าหน่วยออกเสียง
2. ยื่นหลักฐานแสดงตน
ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนและลงลายมือชื่อต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียง
3. รับบัตรออกเสียง
พิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือขวาบนต้นขั้ว บัตรออกเสียงพร้อมรับบัตรออกเสียง 1 บัตร
4. ทำเครื่องหมายกากบาท
เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมาย Í ลงในช่อง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ทั้ง 2 ประเด็น
5. หย่อนบัตรด้วยตัวเอง
เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้ว พับบัตรออกเสียงให้เรียบร้อย และหย่อนบัตรลงในหีบบัตรด้วยตนเอง